คลิกที่รูป เพื่อเอาโค้ดรูปนี้ไปแปะ

วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

การเข้าเรียนครั้งที่ 9



การเข้าเรียนครั้งที่ 9

วันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555

      การเรียน การสอน

   -ไม่มีการเีรียนการสอน เนื่องจากหยุดปีใหม่

 
สวดมนต์ข้ามปีดีอย่างไร ?


ก็เป็นคำถามที่หลายคนอยากจะทราบคำตอบ ว่าสวดมนต์ข้ามปีนั้นดีอย่างไร ทำไมต้องสวดข้ามปี ?
เรื่องนี้ก็ต้องเริ่มที่คำว่า "สวด" ซึ่งเป็นกริยาการเปล่งวาจา โดยนำเอาบทสวดที่เรียกว่ามนตร์มาสวด จึงเรียกว่า สวดมนต์ ซึ่งบทสวดมนต์สำหรับชาวพุทธนั้นจะนิยมเอาข้อความในพระไตรปิฎกมาเป็นหลักในการสวด เช่นบทสรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เป็นภาษาบาลี ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู ฯลฯ ปัจจุบันมีทั้งบทสวดบาลีล้วน บทสวดบาลีแปล และบทสวดกึ่งบาลีกึ่งไทย เช่นบทสวดทำนองสรภัญญะของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ที่ท่านแต่งไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และถือว่าเป็นบทสวดมนต์หลักของนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า

องค์ใด พระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน
ตัดมูล กิเลสมาร   บมิหม่น มิหมองมัว ฯลฯ
   
การสวดมนต์เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง ? แม้มิถึงกับเป็นสมาธิที่แก่กล้า แต่ถ้าสวดจนช่ำชองแล้ว จะสามารถตรึงจิตใจให้อยู่กับบทสวดมนต์นั้นๆ ไม่ว่อกแว่ก หรือซัดส่ายไปคิดเรื่องอื่นไกล เพราะเราเชื่อกันว่า การที่จิตใจอยู่กับพระกับเจ้านั้นถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นมงคล คือเป็นความคิดจิตใจที่ดีงาม ที่นี้เมื่อจิตใจดีงามแล้ว การกระทำก็จะดีงาม เมื่อความคิดกับการกระทำเป็นสิ่งที่ดีงามแล้ว คนๆ นั้นก็จะย่อมจะเป็นคนดีและคนงามตามไปด้วย เพราะพระพุทธศาสนาเชื่อว่า "ทุกสิ่งเริ่มต้นจากจิตใจ" การสวดมนต์จึงเป็นการสร้างสรรค์ชีวิตให้ดีงาม โดยเริ่มที่จิตใจเป็นปฐม
การสวดมนต์นั้นสามารถจะสวดคนเดียวก็ได้ สวดหมู่หรือหลายคนก็ดี เพราะการทำความดีให้แก่ตนเองนั้น ท่านว่า ถ้าทำเองก็ได้ความดีเฉพาะตัวเอง ถ้าชักชวนคนอื่นทำด้วย ก็เป็นการเสริมสร้างบารมี
ยกตัวอย่าง คนที่ทำความดีคนเดียวไม่เกี่ยวใคร ก็เป็นความดีส่วนตัว แต่บางคนนั้นนอกจากตัวเองจะทำแล้ว ก็ยังชักชวนลูกหลานว่านเครือพี่น้องเพื่อนฝูงให้ร่วมทำความดีด้วย ก็แสดงว่าเป็นคนใจกว้าง อารีอารอบ หรือถ้าจะใช้สำนวนใหม่ก็เห็นจะเป็น "เป็นคนมีจิตใจเอื้ออาทร" บุคคลใดสามารถชักชวนคนอื่นทำความดีได้ทีละมากๆ บุคคลนั้นถือว่าเป็นผู้มีบารมี ซึ่งการจะสร้างบารมีนั้นย่อมจะเป็นการเหนื่อยยาก มีให้เห็นออกบ่อยที่หลายคนทำแล้วไม่ค่อยสำเร็จ เช่น
เราจะทำบุญโดยการทอดผ้าป่าหรือกฐิน เมื่อบอกบุญให้แก่เพื่อนฝูงไป บางคนก็อนุโมทนายินดีคือร่วมทำบุญด้วย แต่บางคนนอกจากจะไม่อนุโมทนายินดีแล้วก็ยังตำหนิติเตียนพูดให้เคืองใจกันอีก แบบนี้มีให้เห็นออกบ่อย ไม่ว่าจะที่เมืองไทยหรือในสหรัฐอเมริกานี่ก็ตาม
แต่ในฐานะคนที่ทำความดี เมื่อเราบอกบุญไปแล้ว เขาไม่รับบุญ จะไม่รับโดยดุษณีหรือมีปฏิกิริยาอะไรก็ตามแต่ ไม่รับโดยดุษณีก็คือเฉยๆ ไม่ตอบไม่รับ แต่ก็ไม่ทำ ไม่รับโดยมีปฏิกิริยาก็คือไม่ทำไม่ว่า ยังพูดจาไม่น่าฟังให้เข้าหู เป็นการทำลายน้ำใจกัน คนที่เป็นผู้ชักชวนนั้นก็ไม่ควรโกรธหรือแค้นเคืองให้แก่คนที่ไม่รับบุญนั้น เพราะความแค้นเคืองเขานั้น ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าไม่เป็นบุญกุศล จึงควรจะปลงเสียว่า "ชั่งเถอะ เขาไม่ทำก็ไม่เป็นไร เพราะใครทำใครก็ได้บุญ" คิดดังนี้จึงเป็นความดีโดยแท้จริง
บุญกุศล คุณงามความดี และบารมี เป็นสิ่งที่ต้องสร้าง มิได้เกิดขึ้นลอยๆ หรือง่ายๆ
นี่ก็อยากจะบอกให้ทราบเช่นกัน ว่าเรื่องบุญกุศล คุณงามความดี และบารมีนั้น เป็นเรื่องที่ต้องสร้างต้องสม ด้วยความมานะพยายามและอดทนอดกลั้น เพราะไม่ว่าใครเมื่อคิดจะทำความดีแล้ว ย่อมจะมีอุปสรรคขัดขวาง ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเราเรียกว่า "มาร" จนกระทั่งมีสำนวนไทยว่า "มารไม่มี บารมีไม่เกิด"
มารนั้นท่านว่ามี 2 ประเภท คือ
1. มารภายใน อันได้แก่ความตระหนี่ถี่เหนียว ความหวาดกลัว ความไม่อาจหาญ เป็นต้น เป็นอุปสรรคภายในจิตใจของผู้ทำความดีนั่นเอง เช่น ทีแรกก็คิดว่าจะทำบุญซัก 100 บาท แต่คิดไปคิดมาก็คิดว่ามากไป เลยลดจำนวนลงเหลือ 20 บาท เป็นต้น นี่ก็ถือว่าเกิดมารขึ้นภายใน
2. มารภายนอก ก็ได้แก่คนที่บอกบุญไม่รับ นับทั้งพวกที่ขัดขวางไม่ให้ทำความดี ซึ่งในทางพระพุทธศาสนามีศัพท์เรียกว่า เทวปุตมาร เป็นพวกแข่งดี ไม่อยากให้เราได้ดี เมื่อเห็นเราจะดีกว่าก็อิจฉาริษยา คอยหาทางกลั่นแกล้งไม่ให้เราทำความดีสำเร็จ
ทีนี้ก็จะกลับมาว่าเรื่องสวดมนต์กันต่อ
สวดมนต์มีอยู่ทุกศาสนา
หมายถึงว่า มิใช่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่มีการสวดมนต์ ทุกศาสนาในโลกนี้ ไม่ว่าพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู ก็ล้วนแต่มีการสวดมนต์ และมีความเชื่อเช่นเดียวกันว่า นอกจากจะเป็นกิจกรรมทำความดีของแต่ละบุคคลแล้ว ถ้าทำพร้อมเพรียงกันหลายคนก็จะเป็นกิจกรรมที่สร้างความสมัครสมานสามัคคีอีกโสตหนึ่งด้วย
ทีนี้ว่า มีเรื่องของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสวดมนต์ นั่นก็คือเรื่องของปีใหม่
คือคนทั่วโลกนั้นเชื่อกันว่า ถ้าพระอาทิตย์เดินครบ 1 รอบแล้ว ก็จะทำให้อายุมากขึ้น ชีวิตก็แก่ลง ซึ่งความแก่นั้นเป็นอาการที่บ่งบอกถึง "ความใกล้เข้าสู่ความตาย" ไม่ว่าใครก็ตาม แม้จะไม่มีอะไรยืนยันว่าคนแก่ต้องตายก่อนคนหนุ่ม เพราะเหตุปัจจัยอีกมากมาย แต่ในทางธรรมชาติแล้ว มะม่วงแก่ย่อมจะสุกและเน่าก่อนมะม่วงหนุ่ม หรืออีกนัยหนึ่ง มะม่วงแก่นั้นย่อมจะผ่านความหนุ่มมาก่อน ก่อนจะแก่จนถึงสุกงอมและร่วงหล่นลงไปในที่สุด
เป็นเรื่องที่มองเห็นง่ายๆ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า คอมม่อน เซ้นส์
และที่นี้ก็ว่าโดยธรรมชาติของมนุษย์อีกนั่นแหละ ที่ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย จึงพยายามเอาชนะความแก่ความเจ็บและความตาย โดยการกินอาหาร ออกกำลังกาย และกินยารักษาโรคเมื่อเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็รวมทั้งการออแกไนซ์ คือรวมตัวกันตั้งกลุ่มขึ้นมาดูแลจัดสรรดินแดนเขตผลประโยชน์ของพวกตน เริ่มตั้งบ้านตั้งเมือง จากเมืองเล็กๆ ขยายพันธุ์เป็นหัวเมืองใหญ่ จนกลายเป็นประเทศ และรวมกันอยู่ภายใต้ลัทธิความเชื่อซึ่งก็คือศาสนา การแสวงหาระบอบในการปกครองไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย หรือคอมมิวนิสต์ หรือเผด็จการ ก็ตาม ก็ล้วนแต่มีจุดเริ่มต้นมาจากเรื่องของ "การเอาชีวิตรอดปลอดภัยของคน" ทั้งสิ้น
มันมิได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว แต่มันเป็นวิวัฒนการทางสังคมของมนุษย์
กล่าวโดยสรุปก็คือว่า ศาสนาทุกศาสนาก็เกิดขึ้นมาเพื่อสนองต่อความต้องการของมนุษย์ ว่าด้วยความอยู่รอดปลอดภัย และความสุขอันสูงสุดก็คือ ความสุขทางจิตวิญญาณ
มันจะเป็นจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้ล่ะ รู้แต่ว่า มนุษย์ทุกชาติในโลกนี้ ล้วนแต่มีความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ โดยเฉพาะเชื่อว่า ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย คนเราเกิดมาจากไหน หรือตายแล้วไปไหน เรื่องผีสางนางไม้เทพบุตรเทพธิดา สวรรค์ นรก ฯลฯ จึงถือกำเนิดเกิดขึ้นมาสนองความต้องการของมนุษย์ เป็นดีมานด์ที่กว้างไกลไร้ขอบเขต และเป็นซัพพลายที่ขายได้ ทั้งๆ ที่ในยุคไอโฟนเช่นปัจจุบัน เราสามารถใช้ไอโฟนดาวโหลดอะไรได้สารพัด แต่แปลกว่ายังไม่สามารถดาวโหลดสวรรค์นิพพานได้ คนก็ยังจำเป็นต้องเข้าวัด เข้าโบสถ์ หรือเข้ามัสยิดต่อไป
นี่เห็นไหมเล่าว่า เรื่องสวรรค์นิพพานนั้น ความจริงก็เริ่มมาจาก "ใจคน" นี่แหละ
ผู้เขียนแม้จะเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา แบบว่ามีสังกัด แต่เมื่อเดินทางข้ามบ้านข้ามเมืองไปมากๆ ก็เริ่มจะมองเห็นว่า สาเหตุที่มีศาสนามากมายในโลกนี้นั้น ก็เพราะสมัยโบราณนั้นการติดต่อสื่อสารยังไม่ถึงกัน ผู้คนในแต่ละถิ่นฐานจึงพยายามสร้างศาสนาของตนเองขึ้นมา แล้วก็ได้ศาสนาซึ่งมีวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าไปผสม จนลงตัวกลายเป็นศาสนาประจำถิ่น ถ้าหากว่าศาสนานั้นๆ ได้ขยายไปต่างแดนในภายหลัง ก็จำเป็นต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ ยกตัวอย่างพระพุทธศาสนาที่เริ่มต้นในอินเดีย เมื่อขยายตัวมาสู่ดินแดนอุษาคเนย์ก็คือประเทศในเขตอินโดจีน เช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เป็นต้น ก็ถูกดัดแปลงให้เข้ากับสภาพของบ้านเมืองนั้นๆ (รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวเมืองด้วย) ก็เลยกลายเป็น พุทธแบบพม่า พุทธแบบไทย พุทธแบบลาว พุทธแบบกัมพูชา เป็นต้น ไม่ต้องวิจงวิจัยให้เหนื่อยหรอก เอาแค่มองหน้าพระพุทธรูปแต่ละตระกูลดูก็จะรู้ว่า โอ พระพุทธเจ้าองค์เดียวกันแท้ๆ แต่เมื่อถูกคนต่างบ้านต่างเมืองวาด หรือปั้นขึ้นมา ก็แตกต่างกันเหมือนคนละคน
เมื่อเราศึกษาศาสนาในแนวนี้ ก็รู้สึกประหลาดว่า จิตใจมันเปิดกว้าง ยอมรับความแตกต่างโดยไม่แตกแยก ไม่เคยคิดรังเกียจ ดูถูกดูแคลนคนต่างลัทธิธรรมเนียม หรือต่างศาสนา
เพราะได้คำตอบว่า ทุกศาสนาก็คือวิวัฒนาการทางสังคมของมนุษย์
คำถามจึงมิได้มีว่า "ศาสนาใดดีที่สุดในโลก"
แต่ควรจะเป็น "ศาสนาใดเหมาะสมสำหรับชีวิตคุณมากที่สุด" เท่านั้น
เมื่อคุณเชื่อว่าศาสนาแบบนี้ตรงกับความต้องการของคุณที่สุด (ในวันนี้) คุณก็มีสิทธิในการเลือกนับถือ หรือในอนาคตหากคุณเห็นว่าศาสนาที่ตนเองนับถืออยู่นั้นยังบกพร่อง คุณก็มีสิทธิเปลี่ยนศาสนาได้ มีคนมากมายในโลกนี้ที่เปลี่ยนศาสนา ไม่ว่าจะเปลี่ยนจากพุทธไปนับถือคริสต์ เปลี่ยนจากคริสต์ไปนับถือพุทธ หรือเปลี่ยนจากพุทธไปนับถืออิสลาม และเปลี่ยนจากอิสลามมานับถือพุทธ
พูดได้คำเดียวว่า "มีถมไป"
รวมทั้งคนที่ไม่เชื่อเรื่องศาสนา ก็ยังมีสิทธิที่จะไม่นับถือศาสนาไหนในโลกนี้เลยก็ยังได้
เมื่อกี้พูดเรื่องปีใหม่ คำว่า "ปีใหม่" เกิดมาจากการคิดคำนวนเวลาเดินทางของพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นประธานในสุริยจักรวาล โดยคนโบราณทราบว่า ขณะเมื่อพระอาทิตย์หมุนรอบโลก (สมัยนั้นเชื่อว่าพระอาทิตย์หมุนรอบโลก เพราะคนอยู่บนโลกมองพระอาทิตย์ ไม่เคยมีใครไปอยู่บนพระอาทิตย์แล้วมองมาที่โลก) ไปเรื่อยๆ นั้น ก็จะเกิดปรากฎการณ์มากมายขึ้นกับโลกใบนี้ ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ได้แก่ วัน เดือน และปี
"วัน" นั้นสั้นกว่าเพื่อน เราจะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นและตกบ่อยที่สุด เรียกพระอาทิตย์ขึ้นว่าเวลาเช้า และตกว่าเวลาเย็น แบ่งเวลาออกเป็นกลางวันและกลางคืน
"เดือน" แม้จะทราบว่าเป็นเรื่องของพระจันทร์หมุนรอบโลก แต่ก็ไม่พ้นพระอาทิตย์อีก เพราะถ้าพระอาทิตย์ไม่ส่องแสงใส่พระจันทร์ คนก็จะมองไม่เห็น ก็ไม่รู้ว่าเพ็ญแขหรือเดือนเต็ม และเดือนเสี้ยวเดือนแรมหรือจันทร์แรมนั้นเป็นเช่นไร
ต่อไปก็เรื่อง "ปี" เรื่องนี้เกี่ยวกับพระอาทิตย์โดยตรง คือเป็นผลของการที่โลกต้องหมุนรอบดวงอาทิตย์ ในฐานะเป็นดาวบริวาร ก็หมุนมาชั่วนาตาปีแล้วล่ะ ปัจจุบันยังคำนวณไม่ลงตัวว่ากี่ปีแล้ว
พวกนักการศึกษาว่าด้วยดวงดาวเหล่านี้แหละ รุ่นแรกๆ นั้นก็คือนักโหราศาสตร์ ต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นดาราศาสตร์ เป็นผู้ก่อให้เกิดปฏิทินทั้งระบบจันทรคติและสุริยคติ รวมทั้งนาฬิกาที่ใช้ดูเวลากันเป็นวินาทีในปัจจุบันนี้ด้วย โดยพวกโหราศาสตร์นั้นเน้นวิชาการไปในทางทำนายทายทักโชคชาตาราศีอันเป็นวิชาพยากรณ์ชีวิตส่วนบุคคล (รวมทั้งความเป็นไปของบ้านเมือง) ส่วนพวกดาราศาสตร์ก็หันไปศึกษาว่าด้วยดวงดาวต่างๆ รวมทั้งการพยากรณ์อากาศ ผลิตนาฬิกาขาย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครรวยกว่าใคร ?
และทีนี้ว่า เมื่อศึกษาว่าด้วยการหมุนหรือโคจรของโลกไปนานเข้า เขาก็พบว่า โลกที่เราอาศัยอยู่นี้หมุนรอบพระอาทิตย์เป็นวงรี ซึ่งคนโบราณนั้นก็จะนอนดูดาวในเวลากลางคืน ถึงเที่ยงคืนทุกๆ 27-28 วัน ก็จะพบว่า มีดาวเป็นกลุ่มๆ หมุนมาอยู่ตรงหน้าของเรา (ผู้นอนดูดาว) กลุ่มดาวเหล่านั้นถูกนำมาสเก็ตภาพเป็นรูปคน สัตว์ ต่างๆ ได้ถึง 12 รูปด้วยกัน ได้แก่
1. กลุ่มดาวรูปแพะ เรียกเป็นภาษาบาลีว่า ราศีเมษ
2. กลุ่มดาวรูปวัว เรียกเป็นภาษาบาลีว่า ราศีพฤษภ
3. กลุ่มดาวรูปชายหญิงคู่หนึ่ง เรียกเป็นภาษาบาลีว่า ราศีเมถุน
4. กลุ่มดาวรูปปู เรียกเป็นภาษาบาลีว่า ราศีกรกฎ
5. กลุ่มดาวรูปสิงโต เรียกเป็นภาษาบาลีว่า ราศีสิงห์
6. กลุ่มดาวรูปหญิงสาว เรียกเป็นภาษาบาลีว่า ราศีกันย์
7. กลุ่มดาวรูปคันชั่ง เรียกเป็นภาษาบาลีว่า ราศีตุลย์
8. กลุ่มดาวรูปแมงป่อง เรียกเป็นภาษาบาลีว่า ราศีพิจิก
9. กลุ่มดาวรูปคนแบกธนู เรียกเป็นภาษาบาลีว่า ราศีธนู
10. กลุ่มดาวรูปงูใหญ่ เรียกเป็นภาษาบาลีว่า ราศีมังกร
11. กลุ่มดาวรูปคนแบกหม้อน้ำ เรียกเป็นภาษาบาลีว่า ราศีกุมภ์
12. กลุ่มดาวรูปปลาคู่ เรียกเป็นภาษาบาลีว่า ราศีมีน
นอนดูนานหลายๆ ปีเข้า ก็จะพบว่ากลุ่มดาวเหล่านี้วนเวียนกันเข้ามาอยู่ตรงหน้าทุกๆ 27-28 วัน จึงรวมเอาวันที่นับได้ตลอดเวลา 1 รอบของโลกรอบดวงอาทิตย์นั้นมา ก่อนจะแบ่งออกไปเป็น 12 ชุดตามราศีที่เป็นเขตแบ่ง และเรียกกลุ่มวันเหล่านั้นว่า "เดือน" และเรียกรอบการโคจรของโลกว่า "ปี"
ใน 1 ปีนั้นมี 365 วัน โดยแบ่งออกเป็น 12 เดือนด้วยกัน
เรียกวิธีการนับเช่นนี้ว่า สุริยคติ
กริยาการโคจรจน "ครบรอบ" ของโลกนี่แหละ ที่คนทั้งโลกนำมากำหนดเป็น "รอบชีวิต" ของผู้คนด้วย โดยนำมาผูกพันกับรอบชีวิต ว่าถ้าพระอาทิตย์โคจรครบ 1 รอบแล้ว ก็เท่ากับว่า "ชีวิตคนเราที่เกิดมานั้นแก่ไปด้วย 1 ปี" หมายถึงว่า ใช้การโคจรของโลกเป็นตัวกำหนดเวลาของชีวิต ซึ่งยังย่อยออกเป็นเดือน อาทิตย์ วัน ชั่วโมง นาที วินาที
และก็ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า "ใครๆ ก็ไม่อยากแก่" เพราะความแก่เป็นสัญญาณแห่งความตาย คือจริงๆ แล้วถ้าแก่แต่ไม่ตายก็คงไม่มีใครกลัว แบบมะพร้าวยิ่งแก่ก็ยิ่งห้าวอะไรทำนองนั้น
ดังนั้น ครั้นครบรอบปี จึงมีการทำพิธีส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ ของคนทุกประเทศในโลกนี้ มิใช่เฉพาะประเทศไทยเราเท่านั้น
โดยมีการคำนวณวันสิ้นปีต่างกัน อย่างชาวไทยเราแต่โบราณนั้น เริ่มนับเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันสิ้นปี เรียกว่าวันตรุษ และในวันถัดไป คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ก็ยกเป็นวันขึ้นปีใหม่ เรียกว่าวันเถลิงศก
ต่อมาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นการคำนวณการเดินทางจนครบรอบของพระอาทิตย์ โดยพบว่า เมื่อพระอาทิตย์โคจรจนถึงเส้นคาบเกี่ยว (เส้นเขตแดนที่แบ่งราศีของกลุ่มดาวฤกษ์) ระหว่างกลุ่มดาวราศีมีนกับราศีเมษ ตกในช่วงกลางเดือนเมษายน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอยู่ระหว่างวันที่ 10-15 เมษายน ของทุกปีนั้น ขณะนั้นองศาพระอาทิตย์ที่คำนวณได้นั้นจะอยู่ที่ 0 องศา ถือเป็นการสิ้นสุดฤดูหนาวและเริ่มฤดูร้อน นักปราชญ์ไทยแต่โบราณจึงกำหนดวัน 0 องศานั้นเป็นวันตรุษหรือวันสิ้นปี เรียกง่ายๆ ว่าตัดปีกันตรงนั้น
วันถัดไปนั้นน่าจะเป็นวันเถลิงศกคือวันขึ้นปีใหม่ได้แล้ว แต่ท่านยังคำนวณต่อไปอีกว่า เวลานั้นพระอาทิตย์ยังโคจรไม่ถึงเขตของดาวฤกษ์กลุ่มดาวเมษอย่างเต็มดวง คือยังเข้าเขตไปเพียงครึ่งดวง เหมือนคนข้ามเขตแดนยังไม่พ้นตัว ในทางโหราศาสตร์นั้นถือว่า ถ้าหากว่าดวงดาวยังโคจรไปไม่เต็มตัวเรียกว่าไม่เต็มเรือน ก็ถือว่ายังให้แสงไม่เต็มที่ การจะทำพิธีอะไรในเวลานั้นถือว่า "ฤกษ์ไม่เต็มบาท เป็นอวมงคล" ดังนั้นจึงยังไม่นับวันถัดไปนั้นให้เป็นวันเถลิงศก แต่ให้เป็น "วันว่าง" เรียกว่า "วันเนาว์" แปลว่า พระอาทิตย์ยังอยู่ระหว่างกึ่งกลาง 2 ราศี คือราศีมีนกับราศีเมษ ต้องรอให้ถึงวันที่ 3 พระอาทิตย์ข้ามไปอยู่ในราศีเมษอย่างเต็มดวงแล้ว จึงเริ่มนับเป็นวันเถลิงศก ทางภาคเหนือเรียกวันนั้นว่า วันพญาวัน ก็เริ่มเฉลิมฉลองปีใหม่กันในวันนั้น
นั่นคือประวัติศาสตร์การเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ จากวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 มาเป็นวันที่ 13 เมษายน คือเปลี่ยนจากขึ้นปีใหม่ในต้นฤดูหนาวมาเป็นต้นฤดูร้อน
ในช่วงที่ "ฤกษ์ยังไม่เต็มบาท" คือระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน โดยประมาณนั้น ถือว่าเป็นระยะแห่งการ "เปลี่ยนผ่าน" จากปีหนึ่งไปสู่ปีหนึ่ง เหมือนการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลหนึ่งไปสู่อีกรัฐบาลหนึ่ง จึงถือว่ายังไม่มั่นคง เพื่อให้เกิดความอบอุ่นใจ ความมั่นใจ ชาวพุทธและพราหมณ์แต่โบราณจึงได้กำหนดทำพิธี "สร้างขวัญและกำลังใจ" ขึ้นมา โดยนำเอาการสวดมนต์มาเป็นพิธีหลักระหว่างสามวันเหล่านั้น เรียกพิธีที่ว่านี้ว่า พิธีตรุษ หรือพิธีสัมพัจฉรฉินท์
พิธีตรุษหรือพิธีสัมพัจฉรฉินท์ที่ว่านี้มีการนิมนต์พระสงฆ์เข้าไปเจริญพระพุทธมนต์ในพระบรมมหาราชวัง ตลอดคืนยังรุ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการสวดมนต์ข้ามปี
ในพิธีที่ว่านี้ เมื่อมีการสวดถึงบทอาฏานาฎิยสูตร ซึ่งเป็นการเชิญท้าวเทวราชทั้งสี่ให้มาช่วยปกปักรักษาบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุขนั้น ก็จะมีการยิงปืนใหญ่ เรียกว่า "ยิงปืนอาฏานา" โดยความหมายว่า ยิ่งขับไล่เสนียดจัญไร รวมทั้งภูติผีปีศาจที่แอบแฝงอยู่ตามบ้านเรือนในตัวเมืองให้หนีไกล โดยขณะที่พระสงฆ์สวดอาฎานาฎิยสูตรนั้นท่านว่ายังเป็นเพียงการ "ขู่ผีให้กลัว" เท่านั้น จะให้ชงัด พระมหากษัตริย์จึงทรงช่วย โดยโปรดให้ "ยิงปืนใหญ่" ขับไล่ผีปีศาจออกนอกเมือง นับว่าเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่กว่าการเคาต์ดาวน์ของวัยรุ่นแถวๆ สยามพารากอนในยุคนี้เสียอีก
และการสวดอาฏานาฎิยสูตรที่ว่านี้ ปัจจุบันถูกนำมาดัดแปลงเป็นพิธี "สวดภาณยักษ์" ไป
การสวดมนต์ข้ามปีของไทยจึงเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว แต่ช่วงหลังนั้นยกเลิกไป
เข้าใจว่าน่าจะยกเลิกไปราว พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มต้นประชาธิปไตย เพราะช่วงปลายรัชกาลที่ 7 นั้นมีปัญหาทางด้านการเมือง จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษและทรงประกาศสละราชสมบัติในที่สุด
เพราะในปี พ.ศ.2483 รัฐบาลไทยสมัยนั้น ได้ประกาศให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ ที่ยังคงใช้กันถึงปัจจุบัน แม้คนทั่วไปจะเรียกว่าเป็นปีใหม่สากล แต่ถ้าเทียบกับการขึ้นปีใหม่ของไทยแต่โบราณแล้ว ก็จะพบว่า "ใกล้เคียง" กับวันที่ 1 มกราคม มากที่สุด เพราะวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้ายนั้น ก็ตกประมาณเดือนธันวาคมนั่นเอง
ทีนี้ว่า พอรัฐบาลและคณะสงฆ์ฟื้นฟูให้มีการสวดมนต์ข้ามปีมาอีกในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา คนไทยยุคใหม่ที่ไม่รู้โบราณประเพณีของบรรพบุรุษ ก็ถามกันเซ็งแซ่ว่า "นี่เราสวดมนต์เคาต์ดาวน์ตามก้นฝรั่งเขาหรือเปล่าเนี่ย" ไปโน่นเลย
ก็หัดอ่านประวัติศาสตร์โคตรเหง้าเหล่ากอดูก่อนสิน้อง ก่อนจะพูดออกมาเป็นภาษาอังกฤษ ว่ารู้กำพืดตัวเองดีหรือยัง ก่อนจะนำเอาคตินิยมของชาวต่างชาติมาเทียบกับของไทยเราน่ะ
แต่อย่างไรก็ดี พิธีสวดมนต์ข้ามปีที่พัฒนาจนกลายเป็นยิงปืนใหญ่ไล่ผีที่ว่านั้น ก็เป็นวิวัฒนาการของประเพณีไทยในสมัยหนึ่ง เด็กวัยรุ่นสมัยใหม่ซึ่งเกิดมาเห็นเตาเผาแทนกองฟอนก็คงไม่เชื่อ และอาจจะลามปามเป็นลบหลู่ภูมิปัญญาบรรพบุรุษว่างมงายไป ถึงกระนั้นก็ตาม การสวดมนต์ข้ามปีก็ยังเชื่อได้ว่า ดีหลายอย่าง
1. เพราะการสวดมนต์เป็นการทำความดี สวดข้ามปียิ่งดี ดีกว่ากินเหล้าเมายากันข้ามปีเป็นไหนๆ
2. สวดมากๆ ยิ่งดี เหมือนคนไปวัดมากๆ ก็ย่อมดีกว่าคนไปบ่อนมากๆ
3. เพราะว่าวัดเป็นสถานที่ทำความดี หรือแม้แต่สถานที่สวดมนต์ข้ามปีเช่นท้องสนามหลวง ก็เป็นสถานที่ทำความดี การไปทำความดีมากๆ ย่อมดีกว่าการไปทำความชั่วมากๆ แน่นอน
ดังนั้น การสวดมนต์ข้ามปีที่ทางรัฐบาลไทยก็ดี ทางคณะสงฆ์ไทยโดยมหาเถรสมาคมก็ดี ได้จัดขึ้นมาใหม่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ จึงถือว่าเป็นการส่งเสริมประเทศชาติให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข เป็นกุสโลบายที่ฉลาดแยบยล คนที่มีปัญญาจึงมองเห็น ส่วนคนที่เป็นมิจฉาทิฐิก็ย่อมจะมองเห็นเป็นความสิ้นเปลืองไป
แต่ก็อย่าไปใส่ใจกับคนประเภทขวางโลกเลย
เพราะบอกแล้วไงว่า
ทำดีทุกครั้งย่อมจะมีมารผจญ 



แหล่งเรียนรู้  http://www.alittlebuddha.com



      ครอบครัว ฉันได้ไปสวดมนต์ข้ามปี ที่วัดใกล้บ้าน  วัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี










ไปกับครอบครัว และน้อง





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น